
ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลอยู่ในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดเป็นเวลา 24 – 72 ชั่วโมงก่อนที่มารดาจะนำทารกกลับไปเลี้ยงดูที่บ้านเพื่อประเมินร่างกายและสังเกตอาการ ซึ่งพบว่าทารกแรกเกิดบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ ภาวะตัวเหลือง (Jaundice) หรือดีซ่าน ซึ่งภาวะดังกล่าวเกิดจาก ร่างกายทารกมีสารกลุ่มบิลิรูบิน (bilirubin)สูงขึ้นมากกว่าปกติ โดยในผู้ใหญ่ภาวะดีซ่านเป็นภาวะที่ผิดปกติเสมอแต่ในทารกแรกเกิดหลังคลอดใหม่ๆ โดยเฉพาะในสัปดาห์แรก ภาวะตัวเหลืองถือเป็นภาวะปกติทางสรีรวิทยาซึ่งเกิดขึ้นกับทารกแรกเกิดเกือบทุกคน โดยมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกมีภาวะตัวเหลืองได้แก่ มารดาเป็นโรคเบาหวาน มารดาได้รับยา oxytocin ในระหว่างการคลอด มารดาที่ได้รับยาสลบขณะคลอด มารดาและทารกมีเลือดไม่เข้ากัน (ABO incompatibility) ทารกบางรายที่ได้รับนมมารดา ทารกเพศชายโดยเฉพาะในแถบเอเชีย ทารกแรกเกิดที่มีรอยจ้ำเลือดหรือ cephalhematoma ทารกที่ได้รับน้ำนมน้อย ทารกที่คลอดโดยวิธีผ่าตัดออกทางหน้าท้อง ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีความสามารถในการดูดกลืนไม่ดีและทารกที่ในครอบครัวมีประวัติการเกิดตัวเหลือง ดังมีการแบ่งชนิดของการเกิดภาวะตัวเหลืองไว้ดังนี้
ชนิดของการเกิดตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
1. Physiological (normal) jaundice
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดปกติพบมากกว่าร้อยละ 50 ของทารกแรกเกิดทั้งหมด โดยทารกอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ยกเว้นทารกเกิดก่อนกำหนดซึ่งมักมีอาการป่วยร่วมด้วยและมีโอกาสเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกคลอดก่อนกำหนดทั้งนี้เนื่องจาก blood brain barrier ของทารกคลอดก่อนกำหนดยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์
สาเหตุของการเกิด Physiological jaundice อาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์ในการทำงานของตับจึงทำให้กระบวนการในการขับบิริลูบินออกยังทำได้ช้า (มีระดับ aceptor protein และ conjugating enzyme น้อย) ซึ่งพบในช่วงวันที่ 2 – 4 และจะหายไปเองใน 1 – 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ทารกแรกเกิดมักมีการสร้างบิลิรูบินมากกว่าผู้ใหญ่และเด็กโตถึง 2 เท่าเนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าและ Enterohepatic circulation มีส่วนทำให้ทารกแรกเกิดตัวเหลือง ถ้าทารกมีลำไส้อุดตันหือถ่ายขี้เทา
2. Pathological Jaundices
ภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติเกิดได้จากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้
2.1 มีการสร้างบิลิรูบินเพิ่มขึ้นกว่าปกติจากภาวะต่างๆ ได้แก่
- Hemolytic disease of the newborn (HDN) เกิดจากการที่กลุ่มเลือดของมารดาไม่เหมือนของทารกจึงทำให้มารดาสร้างแอนติบอดีต่อกลุ่มเลือดของทารก ซึ่งแอนติบอดีนี้จะผ่านทางรกไปสู่ทารกได้ ทำให้มีการทำลายเม็ดเลือดของทารก ABO incompatability เป็นชนิดของ HDN ที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย เกิดในมารดาที่มีเลือดกลุ่มโอเท่านั้นและบุตรมีกลุ่มเลือดเอหรือบี ส่วน Rh incompatability พบน้อยมากและในปัจจุบันแถบประเทศตะวันตกพบน้อยลงเนื่องจากมีวิธีป้องกันโดยการให้ Rh immune globulin แก่มารดาภายใน 72 ชั่วโมงภายหลังคลอด
- Red blood cell membrane defect เช่น congenital spherocytosis, congenital ovulocytosis ทำให้เม็ดเลือดแดงอายุสั้นกว่าปกติ
- Red blood cell enzyme defect ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายในภาวะปกติ ได้แก่ การขาด glucose-6-phosphate dehydrogenase (G-6-PD deficiency) หรือการขาด pyruvate kinase เป็นต้น
- Thalassemia
- ทารกที่มีเลือดออกภายในร่างกาย เช่น cephalhematoma, เลือดออกในสมองหรือลำไส้จำนวนมาก ทำให้มีบิลิรูบินเข้าสู่กระแสโลหิตมากกว่าปกติ
- Polycythemia
2.2 มีการดูดซึมของบิลิรูบินจากลำไส้เพิ่มขึ้นจากภาวะต่างๆ เช่น
- ทารกที่ดูดนมได้น้อย
- ภาวะลำไส้อุดกั้น มีบิลิรูบินตกค้างในลำไส้จำนวนมากและดูดซึมกลับสู่ตับได้มากขึ้น
2.3 ตับสามารถกำจัดบิลิรูบินได้น้อยลงเนื่องจากภาวะต่างๆ เช่น
- การขาดเอนไซม์บางชนิดแต่กำเนิด เช่น Gilbert syndrome หรือ Galactosemia
- ได้รับยาบางชนิด เช่น oxytocin
- ภาวะธัยรอยด์ในเลือดต่ำแต่กำเนิด
- มีการ conjugate ของบิริลูบินหรือขับถ่ายน้อยกว่าปกติ เช่น ท่อถุงน้ำดีอุดตัน ลำไส้อุดตัน hypothyriodism หรือได้รับยาที่แย่งจับ albumin ในเลือด ทำให้มีบิริลูบินในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น เช่น ซัลโฟนาไมด์ ซาลิไซเลต
2.4 ภาวะติดเชื้อในครรภ์ เช่น การติดเชื้อ Cytomegalovirus (CMV) / Toxoplasmosis / Rubella / Herpesvirus-hominis / Syphillis / Hepatitis
2.5 ภาวะทารกคลอดก่อนกำหนด จะมีระดับ conjugated enzyme ในเลือดต่ำกว่าทารกคลอดครบกำหนด และเนื่องจากขนาดน้ำหนักตัวก็น้อยกว่า จึงทำให้ระดับบิลิรูบินที่ต้องการ การรักษาต่ำลงกว่าทารกคลอดครบกำหนด และทารกคลอดก่อนกำหนดมักมีภาวะหายใจลำบาก (Respiratory Distress Syndrome; RDS)
3. Breast milk jaundice
พบประมาณร้อยละ 1 – 2 ในทารกแรกเกิดที่ได้รับนมมารดา ซึ่งพบว่าในน้ำนมมารดามีสารบางชนิดที่ทำให้ระดับบิริลูบินเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 mg เนื่องจากสารดังกล่าวป้องกันการขับบิริลูบินออกทางลำไส้ซึ่งพบว่าทารกจะเริ่มมีอาการตัวเหลืองในวันที่ 4 – 7 และมีระยะเวลาของอาการประมาณ 3 -10 สัปดาห์