
โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD : Invasive Pneumococcal Disease) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโต-คอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus Pneumoniae) หรือรู้จักในชื่อ นิวโมคอคคัส ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงอายุแต่จะพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังต่ำ โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน เด็กที่เคยได้รับยาปฏิชีวนะ เด็กที่เคยมีประวัติติดเชื้อในหู เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามบกพร่อง และเด็กที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง หรือเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ
เชื้อนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อชนิดแพร่กระจายที่อันตราย มักอาศัยอยู่ในโพรงจมูกหรือคอของคนทั่วไป แม้ว่าจะมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม ซึ่งอาจไม่มีอาการใดๆ เรียกว่าเป็นพาหะ แต่จะแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายโดยการไอ จาม ทำให้ละอองเสมหะแพร่กระจายออกไป ซึ่งเป็นการแพร่กระจายเช่นเดียวกับโรคหวัด โดยพบว่าอัตราการเป็นพาหะของเชื้อจะสูงมากในเด็กโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 50 ถ้าเชื้อนี้เข้าสู่เด็กเล็กซึ่งยังไม่มีภูมิต้านทานที่ดีก็จะติดเชื้อง่าย เมื่อเด็กติดเชื้อไอพีดีจะแสดงอาการภายนอกเหมือนโรคติดเชื้อทั่วไป อาจทำให้คิดว่าเด็กเป็นไข้หวัดธรรมดา พ่อแม่จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือไม่รีบพาไปพบแพทย์อาจจะทำให้เด็กเสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว หรือพิการได้
เมื่อเชื้อไอพีดีขึ้นสมอง อัตราการเสียชีวิตจะมีถึง 20% อีก 80 % ที่รอดชีวิตจะมีอาการข้างเคียงตามมา คือ พิการทางสมอง 30% ปัญญาอ่อน 19% หูหนวก 17% ชัก 15% ความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว 11%
ไอพีดี เป็นโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบต่างๆของร่างกาย ดังนี้
- การติดเชื้อในระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็งหากเกิดกับเด็กทารกจะมีอาการงอแง ซึม ไม่กินนม และชักได้ ถ้ารักษาไม่ทันอาจเสียชีวิต หรือพิการ หูหนวก ปัญญาอ่อน
- การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดอักเสบ เด็กจะมีไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ ถ้ารักษาไม่ทัน อาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้
- การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หูน้ำหนวก เด็กจะมีไข้สูง บ่นปวดหู งอแง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดหูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ การได้ยินบกพร่อ
- การติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดโลหิตเป็นพิษ เด็กจะมีไข้สูง งอแง อาจเกิดภาวะช็อก หรือเชื้ออาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด กระดูก
การป้องกันโรค
- วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือให้เด็กมีภูมิต้านทาน ในทารกและเด็กเล็กควรให้กินนมแม่ ปลูกฝังให้เด็กรู้จักป้องกันด้วยการมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากทุกครั้งที่ไอหรือจาม และสอนให้เด็กรู้จักหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนเป็นหวัดหรือป่วย หรือหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท และรู้จักสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก
- การฉีดวัคซีนวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต สามารถป้องกันโรคไอพีดีได้ตลอดชีวิต ซึ่งในประเทศไทยมีการนำเข้ามาใช้แล้ว ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ถึง 9 ปี ฉีดทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกเริ่มฉีดเมื่ออายุ 2 เดือนหรือ อายุ 6-8 สัปดาห์ หรือจะเริ่มฉีดเมื่ออายุ 7 เดือนขึ้นไปก็ได้ ราคาประมาณเข็มละ 3,000 – 5,000 บาท ผลข้างเคียงของวัคซีนคือ อาจมีการระคายเคือง ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ปัจจุบันปัญหาเชื้อนิวโมคอคคัสเริ่มดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รักษาได้ยาก กุมารแพทย์ก็ยังถือว่าเป็นวัคซีนทางเลือก คือไม่จำเป็นต้องฉีดทุกราย อยากฉีดก็ไม่ห้าม ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้
ที่มา: นิตยสารรักลูก ปีที่ 23 ฉบับที่ 265 กุมภาพันธ์ 2548