
การดูแลทารกแรกเกิดที่ไม่เจ็บป่วย เช่น ทารกที่รอกลับบ้านพร้อมแม่หลังคลอด เพื่อไม่ให้ทารกเจ็บป่วย ไม่อยู่โรงพยาบาลนาน ไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายของการรักษาจากการเกิดโรคแทรกซ้อน จากความบกพร่องของการดูแลนั้น ต้องใช้หลักการสร้างเสริมสุขภาพ โดยหลักการดูแลต้องมุ่งที่การป้องกันการเจ็บป่วย โดยปฏิบัติตามหลักการดูแลทารกแรกเกิดอย่างครบถ้วนและเคร่งครัด ซึ่งพยาบาลที่ดูแลทารกจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะและสรีรวิทยาของทารกแรกเกิด เพราะช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญของชีวิต เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยามาก จากการที่ทารกพึ่งพามารดาขณะอยู่ในครรภ์มาเป็นพึ่งพาตัวเองนอกครรภ์มารดา ทำให้อัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายของทารกในระยะนี้สูงกว่าเด็กวัยอื่นๆ
ความหมายของทารกแรกเกิด
ทารกแรกเกิดหมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดาจนถึงอายุ 28 วัน โดยคลอดเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด ระบบกายวิภาคและสรีรวิทยาของทารกมีการพัฒนาพร้อมที่จะออกมาอยู่นอกครรภ์มารดา เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วทารกจะมีศักยภาพและพร้อมสำหรับการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งการปรับตัวเช่นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญเติบโตและพัฒนาการในอนาคต ทารกแรกเกิดเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราการเจ็บป่วย (morbidity) และการสูญเสียชีวิต (mortality) มากที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรวัยอื่นๆ
การปรับตัวของทารกแรกเกิดภายหลังคลอด (Transition to extrauterine life )
ทารกจะต้องปรับตัวจากการรับออกซิเจนทางรกของมารดาเปลี่ยนเป็นการหายใจเองโดยปอด ดังนั้นจึงสังเกตพบว่า ในช่วงสัปดาห์แรก ทารกจะมีการหายใจไม่สม่ำเสมอ บางครั้งหายใจเร็ว เสียงดัง บางครั้งจะหยุดหายใจไป การหายใจครั้งแรกของทารกเกิดจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ การกระตุ้นจากการผ่านทางช่องคลอด ภาวะขาดออกซิเจน (asphyxia) จากการตัดสายสะดือ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและการกระตุ้นทางประสาทสัมผัสหลังคลอดจากการสัมผัส แสง เสียง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไปกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ
พัฒนาการของทารกแรกเกิด
- พัฒนาการด้านร่างกาย จะมีพัฒนาการของระบบกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วมาก ทั้งในส่วนความยาวและความกว้าง เช่น กล้ามเนื้อตาจะแข็งแรงขึ้น ในระยะแรกเกิดยังทำงานไม่ประสานกัน และไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้มองอย่างไร้จุดหมาย ไม่สามารถมองจับสิ่งใดจนกว่าจะอายุ 7 วัน เรตินาในลูกตายังทำหน้าที่ได้ไม่ดี จะมีลักษณะของตาบอดสี ทารกจะแยกความมืดและความสว่างออกจากกันได้ จะกระพริบตาเมื่อมีแสงจ้ามากระทบ ยังไม่สามารถแยกความแตกต่างของคลื่นเสียงได้ เส้นประสาทมีความรู้สึกเมื่อถูกแตะต้อง หรือเมื่อมีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง บริเวณที่รับความรู้สึกได้มากที่สุดคือ ริมฝีปาก ฝ่าเท้า เปลือกตา สำหรับการนอนหลับ 1-3 วันแรกทารกจะนอนหลับวันละประมาณ 20 ชั่วโมง และตื่นทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ตื่นง่ายเมื่อมีสิ่งกระตุ้น
- พัฒนาการด้านอารมณ์ เมื่อแรกคลอด ทารกจะมีอารมณ์ตื่นเต้นเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นจะมีพัฒนาการของอารมณ์ดังนี้
2.1 อารมณ์พอใจ แจ่มใส ดีใจ จะเกิดเมื่อทารกถูกสัมผัสตัวเบาๆ เมื่อได้รับความอบอุ่นด้วยการกอด เมื่อได้ดูดนม หรือได้รับการเห่ไกว เป็นต้น
2.2 อารมณ์ไม่พอใจ จะเกิดขึ้นเมื่อทารกถูกจับไม่ให้เคลื่อนไหว ถูกเปลี่ยนท่าอย่างรวดเร็ว ไม่ได้รับการอุ้มชู ได้ยินเสียงดังทันที หรือเมื่อมีความเจ็บป่วย เป็นต้น - พัฒนาการด้านสังคม ทารกแรกเกิดจะมีความไวต่อการกระตุ้นทางประสาทสัมผัส และต่อการรับรู้เสียงคนอาจจะเป็นเสียงพูดหรือไม่ใช่เสียงพูดก็ได้ เช่น เมื่อทารกกำลังร้องไห้ หากได้ยินเสียงปลอบโยน หรือได้รับการสัมผัส ทารกจะเงียบและหยุดฟัง เสียงร้องไห้หรือเสียงอื่นๆ จะพัฒนาเป็นภาษาพูดต่อไป
- พัฒนาการด้านสติปัญญา ทารกจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้า เช่น ตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน แต่ไม่สามารถหันตามเสียงที่ได้ยินได้ เนื่องจากระบบประสาทส่วนกลางยังไม่สมบูรณ์ แต่สามารถจำแนกเสียงแหลม เสียงห้าว ได้ จะเห็นได้ว่าทารกจะชอบฟังเสียงเห่กล่อมที่เป็นเสียงแหลมมากกว่าเสียงทุ้ม นอกจากนี้ยังมองตามของเล่นที่มีสีสัน ที่อยู่ใกล้ภายในระยะ 8 นิ้ว และอยู่ตรงกลางสายตา